สำหรับคนที่อยากทำเลสิค และมีอายุมากกว่าหรือเข้าใกล้ 40 ปี มีสิ่งที่ต้องพิจารณาเพิ่มที่สำคัญ คือ สายตายาวตามอายุ (Presbyopia)
เมื่อย่างเข้าใกล้วัย 40 ปี กล้ามเนื้อตาและเลนส์ตาจะมีความยืดหยุ่นลดลง ซึ่งจัดว่าเป็นความเสื่อมตามวัย ทำให้การเพ่งมองใกล้ เช่น อ่านหนังสือ หรือดูโทรศัพท์ มีความยากลำบากมากขึ้น คนไข้จะต้องอาศัยการยืดแขนออก หรือถอดแว่นสายตาเพื่อจ้องดูในระยะใกล้ๆ หรือหากเป็นมากขึ้นต้องสวมแว่นสายตายาวร่วมด้วย ส่วนการมองภาพระยะไกลจะไม่เปลี่ยนแปลง
การแก้ไขสายตาในคนที่มีสายตายาวตามวัยร่วมด้วย ทำได้หลายแบบ ขึ้นกับความเข้าใจของคนไข้และค่าสายตา
1. แก้ไขอย่างเต็มที่ (full correction) ในทั้ง 2 ตา เพื่อให้มองไกลได้ชัด ส่วนการมองใกล้ อาศัยการสวมแว่นอ่านหนังสือ
2. แก้ไขด้วยวิธี monovision โดยจะแก้ไขอย่างเต็มที่ (full correction) ในตาข้างที่ถนัด(Dominant eye) เพื่อใช้ในการมองไกล และรักษาให้เหลือค่าสายตาสั้นไว้เล็กน้อย ประมาณ 1.00-1.50 ในตาข้างที่ไม่ถนัด (non-dominant eye) เพื่อใช้ในการอ่านหนังสือ ซึ่งเมื่อใช้ตาทั้ง 2 ข้างพร้อมกันและสามารถปรับตัวได้แล้วจะมองเห็นได้ดีทั้งในระยะไกลและใกล้โดยไม่ต้องใช้แว่นสายตา
ก่อนการทำผ่าตัด แพทย์จะทดลองค่าสายตาแบบ monovision ให้แก่คนไข้เพื่อเป็นการจำลองสถานการณ์ ข้อจำกัดของการรักษาด้วยวิธีนี้คือ ในช่วงแรกคนไข้ต้องใช้ระยะเวลาในการปรับตัว ประมาณ 2-4 สัปดาห์ และการทำ monovision อาจส่งผลให้การกะระยะความลึกของวัตถุลดลงได้ ในบางคนอาจต้องใช้แว่นในบางโอกาส เช่น การขับรถกลางคืนหรือในที่ที่มีแสงสว่างน้อย รวมถึงการอ่านหนังสือหรือมองใกล้ๆเป็นระยะเวลานานๆ
คนส่วนใหญ่จะใช้เวลาปรับตัวกับ monovision เป็นระยะเวลา 2-4 สัปดาห์ ซึ่งส่วนใหญ่จะปรับตัวได้ และไม่ต้องใช้แว่นสายตา แต่หากบางคนที่ปรับตัวไม่ได้จริงๆสามารถกลับมาพบแพทย์เพื่อปรึกษาเติมเลเซอร์ในข้างที่เหลือสายตาได้
3. แก้ไขให้มองใกล้ได้ชัด โดยรักษาค่าสายตาให้เหลือสายตาสั้นเล็กน้อย และใส่แว่นสายตาเวลามองไกล เหมาะกับผู้ที่มองใกล้เป็นหลัก และยอมรับการใส่แว่นมองไกลหรือตอนขับรถกลางคืน
4. โปรแกรมการรักษาสายตายาวด้วยเลสิคด้วยวิธีเฉพาะ ซึ่งมีเทคโนโลยีหลายบริษัท แต่ละบริษัทก็มีลักษณะการยิงที่แตกต่างกันไป ข้อมูลของการรักษาในกลุ่มนี้ยังไม่ชัดเจนและต้องติดตามผลในระยะยาว
คนไข้ที่แก้ไขสายตายาวตามอายุร่วมด้วยควรมีความเข้าใจอย่างมาก เนื่องจากสายตายาวตามวัยเป็น dynamic process ที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆตามอายุ ซึ่งการแก้ไขด้วยเลเซอร์เป็นการรักษาเพียงครั้งเดียว (static process) จึงไม่สามารถที่จะทำให้มองชัดทุกระยะไปตลอดได้ เมื่อคนไข้อายุมากขึ้นมีสายตายาวตามวัยมากขึ้น ระดับสายตาที่เหลือไว้ใช้ในการมองใกล้อาจไม่เพียงพอกับการใช้งาน
ส่วนภาวะอื่นๆที่อาจพบได้ในคนอายุเยอะ คือ ต้อกระจกและต้อหิน ที่มักพบในคนไข้อายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป หากตรวจพบตัวโรคในตา ควรรักษาที่ตัวโรคนั้นๆจะได้ผลดีกว่า เพราะหากมีภาวะต้อกระจกหรือต้อหินร่วมด้วย การทำเลสิคจะไม่ได้ทำให้มองเห็นชัดขึ้นค่ะ